ปัญหากล้ามเนื้อตาอ่อนแรง คืออะไร
ภาวะที่เปลือกตาหรือหนังตาหย่อนลงมามากกว่าปกติ หรือที่นิยมเรียกกันว่า กล้ามเนื้อตาอ่อนแรงนั่นเองค่ะ เนื่องจากกล้ามเนื้อยกเปลือกตาทำงานได้ไม่เต็มที่ ทำให้กล้ามเนื้อตาไม่แข็งแรง ไม่สามารถพยุงชั้นตาของเราได้นั่นเอง การลืมตา กระพริบตาในแต่ละครั้ง ล้วนแล้วแต่เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างเปลือกตา เส้นประสาท และ กล้ามเนื้อตา นะคะ
ภาวะดังกล่าวสามาถเกิดได้ทุกเพศ ทุกวัยเลยค่ะ คนไข้บางรายเป็นมาแต่กำเนิด บางรายเกิดจากอายุที่เพิ่มมากขึ้น หรือ การใช้คอนแทคเลนส์เป็นระยะเวลานาน ซึ่งภาวะกล้ามเนื้อบริเวณดวงตาอ่อนแรงนี้ อาจเกิดที่ตาข้างเดียวหรือสองข้างก็ได้ค่ะ
คนไข้ที่มีภาวะกล้ามเนื้อรอบดวงตาอ่อนแรงมักมีอาการ ตาดูง่วงนอนตลอดเวลา ตาปรือ ตาดูไม่สดใส ส่งผลในเรื่องของบุคคลิก ความสวยงาม การมองเห็น และการใช้ชีวิตประจำวันอย่างมาก ทำให้หลายคนต้องทำการผ่าตัดเพื่อรักษาอาการเหล่านี้ค่ะ
กล้ามเนื้อตาทำหน้าที่อะไร
กล้ามเนื้อตามีหน้าที่เกี่ยวกับการหลับตา ลืมตา หรือเบิ่งตาค่ะ เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับลูกตา การกระพริบตาเป็นการทำให้น้ำในตากระจายตัวไปทั่วๆค่ะ นอกจากจะช่วยลดการระคายเคืองแล้ว ยังช่วยปกป้องเยื่อบุตา รวมไปถึงปกป้องกระจกตาดำอีกด้วยค่ะ
เปลือกตาจะมีขนตา ซึ่งขนตานอกจากจะทำหน้าที่ในเรื่องของความสวยงามแล้ว ยังช่วยป้องกันไม่ให้สิ่งแปลกปลอมเข้าตาอีกด้วย ขนตาเป็นส่วนที่ไวต่อความรู้สึกอย่างมากนะคะ เมื่อมีสิ่งเร้ามากระตุ้นบริเวณใกล้ดวงตา จะเกิดการกระพริบตาโดยอัตโนมัติทันทีค่ะ
อาการผิดปกติที่พบบ่อย
- อาการอักเสบบริเวณต่อมเปลือกตาที่พบได้บ่อย หรือที่เรียกกันอย่างคุ้นหูว่า “ตากุ้งยิง”
- กล้ามเนื้อเปลือกตากระตุก เกิดขึ้นได้จากกล้ามเนื้อบริเวณเปลือกตา เกิดการเกร็ง สามารถเป็นได้ทั้งเปลือกตาบน และ เปลือกตาล่างค่ะ
- กล้ามเนื้อตาล้า เกิดจากการใช้งานดวงตาเป็นระยะเวลานาน จึงก่อให้เกิดอาการเมื่อยล้าค่ะ
- กล้ามเนื้อตาอ่อนแรง เกิดจากความผิดปกติของกล้ามเนื้อเปลือกตาค่
กล้ามเนื้อตาอ่อนแรง เกิดจากอะไรบ้าง
ปัจจุบันมีหลายปัจจัยที่ก่อให้เกิดปัญหาด้านการมองเห็น หนึ่งในนั้นคงหนีไม่พ้น “ภาวะกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง” ที่สามารถพบได้ทุกเพศ ทุกวัย แถมบางคนยังมีอาการเหล่านี้ตั้งแต่กำเนิดอีกด้วย รวมไปถึงการใช้ชีวิตในปัจจุบันก็สามารถก่อให้เกิดภาวะดังกล่าวได้เช่นกันค่ะ
การถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรม
กล้ามเนื้อตาอ่อนแรงในเด็ก เกิดจากกล้ามเนื้อตาไม่พัฒนา หรือเกิดจากการถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรม จะพบว่า ไม่มีรอยพับชั้นตา ทำให้ ตาปรือ ลืมตาไม่ค่อยขึ้น อาจทำให้ตาข้างใดข้างหนึ่งมองเห็นได้น้อยกว่าอีกข้าง หนังตาตกทับดวงตา บดบังการมองเห็น หากไม่ได้รับการรักษา จะเกิดภาวะตาขี้เกียจ (Lazy eyes) ตาเหล่ตาเข (Amblyopia) ซึ่งอาการกล้ามเนื้อรอบดวงตาอ่อนแรง ในเด็กจะเห็นชัดในช่วงอายุประมาณ 1-2 ขวบ ค่ะ
อายุที่เพิ่มมากขึ้น
โครงสร้างผิวเปลือกตาเกิดความหย่อนคล้อย กล้ามเนื้อเปลือกตาเสียความยืดหยุ่น จากการใช้งานเป็นเวลานาน ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อเปลือกตาลดลง ทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อบริเวณตาอ่อนแรง หนังตาตกทับตาดำมากกว่าปกติ จนบดบังการมองเห็นค่ะ
ใช้คอนแทคเลนส์เป็นเวลานาน
เนื่องจากคอนแทคเลนส์ไปถูเยื่อบุตาด้านบนค่ะ ทำให้เส้นใยกล้ามเนื้อตาฉีกขาดได้รับการบาดเจ็บจนอ่อนแรงได้นั่นเอง
ผู้ป่วยโรค myasthenia gravis
เป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงที่เกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน ส่งผลให้การทำงานของสารสื่อประสาทบริเวณช่องว่างระหว่างเส้นประสาทและกล้ามเนื้อบกพร่องค่ะ
อาการที่พบบ่อย
- เกิดภาวะกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงทำให้ หนังตาตก ลืมตาลำบาก กลอกตาผิดปกติ มองภาพไม่ชัดเจน เป็นภาพซ้อน
- กล้ามเนื้อใบหน้าและระบบทางเดินอาหารอ่อนแรง
- กล้ามเนื้อแขน ขา อ่อนแรง
- กล้ามเนื้อหายใจอ่อนแรง ทำให้เกิดอาการเหนื่อย หอบ
- การใช้ชีวิตประจำวัน
ด้วยพฤติกรรมการดำเนินชีวิตในยุคปัจจุบันที่มีเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้อง อาจก่อให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อตาตกได้ ไม่ว่าจะเป็นในกลุ่มคนทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ตลอดทั้งวัน คนที่ใช้งานแทปเล็ตหรือมือถือเป็นระยะเวลานาน โดยไม่มีการพักสายตา ก็ส่งผลให้เกิดภาวะดังกล่าวได้เช่นกันค่ะ
อาการของกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง
ปัจจุบันพบว่าภาวะกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง มักเกิดกับกลุ่มวัยรุ่นและวัยทำงานค่อนข้างมากค่ะ เนื่องจากพฤติกรรมการดำรงชีวิตของคนกลุ่มนี้ เน้นการใช้สายตา ทำงาน เล่นเกมส์ หน้าคอมพิวเตอร์หรือมือถือเป็นระยะเวลานาน โดยไม่มีการพักสายตา ส่งผลให้กล้ามเนื้อตาถูกยืดออก จนหย่อนยานได้
ดังนั้น วันนี้จะมาเล่าให้ฟังนะคะว่า อาการของผู้ที่มีภาวะกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงเป็นแบบไหนบ้าง มาเช็คพร้อมๆกันเลยค่ะ
หนังตาตก
จัดเป็นปัญหากล้ามเนื้อบริเวณตาอ่อนแรงแต่กำเนิด เนื่องจากกล้ามเนื้อตาไม่พัฒนา ส่งผลให้ตาปรือตลอดเวลา หนังตาตกทับดวงตา มีผลกระทบต่อการมองเห็นและการดำเนินชีวิตในปัจจุบันค่ะ
ลืมตาไม่ขึ้น
เกิดจากการสูญเสียความแข็งแรงของกล้ามเนื้อตา จนไม่สามารถลืมตาได้อย่างเต็มที่ ทำให้ตาดูปรือ คล้ายคนง่วงนอน ลืมตาได้ยาก ดูไม่สวยงาม ส่งผลเสียต่อบุคลิกภาพ
ปัญหาการเลิกคิ้ว
เนื่องจากหนังตาตกลงมาทับดวงตาดำ ทำให้การมองเห็นลดลง ดังนั้นจึงต้องเลิกคิ้ว เลิกหน้าผากขึ้น เพื่อให้สามารถมองเห็นได้ชัดเจนขึ้น อาจก่อให้เกิดปัญหาริ้วรอยบริเวณหน้าผากร่วมด้วย
ขยี้ตาบ่อย
การขยี้ตาส่งผลให้เกิดความหย่อนคล้อยมากกว่าปกติ เนื่องจากกล้ามเนื้อบริเวณเปลือกตายืดออก ชั้นตาอาจมีหลายชั้น หรือ เปลือกตามีรอยพับเป็นริ้วๆทำให้ดูตาปรือมากกว่าปกติ
หากไม่รักษากล้ามเนื้อตาอ่อนแรง อันตรายไหม ?
หลายคนอาจเข้าใจว่า “เมื่อมีภาวะกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง ไม่จำเป็นต้องรีบรักษาก็ได้ เพราะไม่เป็นอันตราย ไม่มีผลต่อการดำรงชีวิต” แต่จริงๆแล้วเป็นความเข้าใจที่ผิดนะคะ
เนื่องจากปัญหาส่งผลกระทบได้มากกว่าที่คิดค่ะ นอกจากก่อให้เกิด หนังตาตก ตาปรือ ตาดูง่วงนอน ตาสองข้างดูไม่เท่ากันแล้ว ยังลดทอนประสิทธิภาพการมองเห็น บางอาชีพอาจเป็นอุปสรรคในการทำงานได้ค่ะ
สังเกตุเห็นได้อย่างชัดเจนเลยว่า ภาวะดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อการมองเห็นโดยตรงเลยใช่ไหมคะ ซึ่งการมองเห็นเป็นส่วนสำคัญในการเรียนรู้สิ่งต่างๆนะคะ หากดวงตาของเราขาดประสิทธิภาพการมองเห็น อนาคตอาจก่อให้เกิดปัญหาต่างๆตามมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ การทำงาน การเดินทาง การอ่านหนังสือ รวมไปถึงกิจกรรมผ่อนคลายต่างๆ นอกจากนี้ยังทำให้สูญเสียความมั่นใจในการเข้าสังคมอีกด้วยค่ะ
การแก้ไขกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงกับการทำตาสองชั้น ต่างกันอย่างไร
การแก้ไขกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง เป็นการผ่าตัดลงลึกถึงชั้นกล้ามเนื้อค่ะ เพื่อรักษากล้ามเนื้อตาให้กลับมาแข็งแรง แก้ไขปัญหาตาปรือ ตาไม่สดใส ตาดูง่วงตลอดเวลา ช่วยให้เปิดตาได้ดีขึ้น เนื่องจากเป็นการผ่าตัดที่มีความละเอียดและซับซ้อนมากกว่าการทำตาสองชั้น จึงใช้วลาในการผ่าตัดค่อนข้างมากค่ะ
ในส่วนการทำตาสองชั้น เป็นการผ่าตัดเพื่อสร้างชั้นตาขึ้นมาใหม่ เพื่อแก้ไขปัญหา ตาเล็ก หนังตาตก ไขมันสะสมบริเวณเปลือกตา ชั้นตาหลบใน ตาชั้นเดียว ทำให้ชั้นตาคมชัดขึ้น ตาดูกลมโต ดวงตาดูสดใสขึ้น ซึ่งการทำศัลยกรรมตามี 2 เทคนิคหลักๆนะคะ และเทคนิคที่ว่านั้นก็คือ เทคนิคการกรีดแผลยาว และ เทคนิคการกรีดแผลสั้น นั่นเอง
การรักษากล้ามเนื้อตาอ่อนแรง
- อาการกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงเกิดจากกลุ่มโรค MG
เป็นที่ทราบกันดีว่าอาการของโรค MG ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงทั่วร่างกาย
ดังนั้นหากคนไข้พบแพทย์เพื่อรักษาโรค MG ให้หายแล้ว ปัญหาเหล่านี้ก็หายไปด้วยนั่นเองค่ะ ซึ่งแนวทางในการรักษาโรคด้วยการรับประทานยา สามารถแบ่งได้สองกลุ่มนะคะ และสองกลุ่มที่ว่านั้นก็คือ
- กลุ่มยาที่ออกฤทธิ์เพิ่มการทำงานของสารสื่อประสาท
- กลุ่มยาที่กดภูมิคุ้มกัน
- อาการที่เป็นมาแต่กำเนิด หรือเกิดจาก อายุที่เพิ่มมากขึ้น รวมไปถึงการใช้ชีวิตประจำวัน
อาการกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงมีสาเหตุหลักๆมาจาก การหย่อนยานหรือยืดตัวของกล้ามเนื้อที่ใช้ยกเปลือกตาค่ะ ทำให้กล้ามเนื้อตาไม่แข็งแรง ไม่สามารถพยุงชั้นตาของเราได้นั่นเอง ดังนั้นจำเป็นต้องทำการผ่าตัดเพื่อซ่อมแซมกล้ามเนื้อตา ให้สามารถเปิดตาได้ดีขึ้น แก้ไขปัญหาตาปรือ ตาไม่สดใส ตาดูง่วงตลอดเวลาค่ะ
อาการข้างเคียงหลังผ่าตัด
การแก้ไขกล้ามเนื้อตา สามารถผ่าตัดร่วมกับการทำตาสองชั้นได้ค่ะ เนื่องจากแพทย์จะผ่าตัดเปิดแผลในตำแหน่งเดียวกัน ในส่วนของอาการข้างเคียงหลังผ่าตัด ก็คล้ายๆกับการทำตาสองชั้นเลยค่ะ ไม่ว่าจะเป็น ผลข้างเคียงระยะสั้น หรือ ผลข้างเคียงระยะยาว เดี๋ยวจะเล่าให้ฟังนะคะ ว่าผลข้างเคียงดังกล่าวมีอะไรบ้าง
ผลข้างเคียงระยะสั้น คือ อาการที่เกิดขึ้นในช่วงระยะ 7-14 วัน หลังผ่าตัด
รอยเขียวช้ำ
สามารถพบได้ทั่วไปในการผ่าตัด เนื่องจากใต้ผิวหนังของเรามีเลือดไหลออกมาทำให้เห็นเป็นรอยช้ำเขียว มักเกิดกับคนที่ฟกช้ำง่าย ทางแก้ที่ดีเลยคือ หมั่นประคบเย็นในช่วงแรก และประคบอุ่นในช่วงหลังเพื่อลดอาการบวม ช้ำเขียวค่ะ
แผลอักเสบ
หลังการผ่าตัด ควรดูแลและทำความสะอาดแผลอย่างดีนะคะ เพราะหากดูแลแผลไม่ดี แผลเปียก ล้างแผลไม่สะอาด อาจจะก่อให้เกิดการติดเชื้อได้ค่ะ
แผลแยก
สาเหตุมาจาก เทคนิคการเย็บแผล ไหมหลุดเร็วเกินไป หรืออาการอักเสบค่ะ หากสังเกตุเห็นว่าแผลแยกออกจากกัน แนะนำว่าให้รีบพบแพทย์เพื่อทำการรักษานะคะ เพราะปล่อยไว้อาจจะทำให้แผลไม่สวย ชั้นตาไม่สวยงามได้ค่ะ
หลับตาไม่สนิท
คนไข้บางรายอาจจะหลับตาได้ไม่สนิท เนื่องจากมีอาการบวมของแผลบริเวณเปลือกตา และยาชาค่ะ แต่ไม่ต้องตกใจไปนะคะ เพราะอาการบวมนี้จะยุบตัวลงและหายได้เองค่ะ หากมีอาการเคืองตาร่วมด้วย แนะนำให้ใช้น้ำตาเทียมหยอดใส่บริเวณตา ระหว่างวันเพื่อบรรเทาการระคายเคืองชั่วคราวนะคะ
ผลข้างเคียงระยะยาว
ชั้นตาหลุด
สาเหตุมาจาก คนไข้มีอาการเคืองตาแล้วขยี้ตา รวมไปถึงการที่แพทย์เลือกใช้เทคนิคที่ไม่เชี่ยวชาญค่ะ หากพบว่าชั้นตาหลุดควรปรึกษาแพทย์เพื่อทำการผ่าตัดแก้ไขภายใน 14 วันนะคะ
ชั้นตามีรอยแผลเป็นที่เห็นได้ชัดเจน
โดยปกติแล้วการผ่าตัดเพื่อแก้ไขกล้ามเนื้อตาจะยุบบวมเต็มที่ และจะเรียบเนียนในช่วง 3-6 เดือนนะคะ ทั้งนี้หากคนไข้ดูแลแผลได้ไม่ดีอาจจะเกิดคีลอยด์ ทำให้แผลไม่สวย ไม่เรียบเนียน ได้ค่ะ
ผลลัพธ์การผ่าตัดแก้ไขกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง
อย่างที่ทราบกันดีว่า ภาวะกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง (Ptosis) คือภาวะที่หนังตาตกหรือหย่อนกว่าระดับปกติ อาจเป็นข้างเดียวหรือสองข้างก็ได้ หากไม่ทำการรักษาจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันอย่างมากค่ะ อาการเหล่านี้สามารถแก้ไขได้ด้วยการผ่าตัดเพื่อซ่อมแซมกล้ามเนื้อตานะคะ
ในส่วนผลลัพธ์หลังผ่าตัดเพื่อซ่อมแซมกล้ามเนื้อตา มีดังต่อไปนี้
- ชั้นตาไม่ซ้อนกันหลายชั้น ไม่เป็นริ้วที่บริเวณเปลือกตา
- ช่วยให้เปิดตาทั้งสองข้างได้ดีขึ้น ส่งผลให้เห็นดวงตาดำในระดับที่พอเหมาะ ไม่เบิ่งตามากเกินไป ตาดูอ่อนหวานขึ้น ตาทั้งสองข้างดูเท่ากัน
- สามารถลืมตาได้ตามปกติ ลดโอกาสการเกิดริ้วรอยบริเวณหน้าผาก เพราะไม่ต้องเลิกคิ้ว หรือขมวดคิ้ว
- สามารถทำร่วมกับการทำตาสองชั้นได้ด้วยนะคะ เนื่องจากแผลผ่าตัดแก้ไขกล้ามเนื้อตาและทำตาสองชั้นเป็นแผลเดียวกัน นอกจากจะช่วยเพิ่มความคมชัดของชั้นตาแล้ว ยังช่วยแก้ไขปัญหาหนังตาตก ตาปรือ ตาไม่สดใส ได้ดีอีกด้วยค่ะ
สำหรับใคร ที่อยากผ่าตัดแก้ไขกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง ควรศึกษาข้อมูลโดยละเอียด ปรึกษาแพยท์ทุกครั้งก่อนเข้ารับการรักษา เพื่อความปลอดภัย และแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด รวมไปถึงผลลัพธ์ที่ดี เหมาะสมในแบบฉบับคุณ
การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการผ่าตัด
การผ่าตัดทุกประเภทย่อมมีความเสี่ยง หากคนไข้เตรียมตัวก่อนเข้ารับการผ่าตัดตามคำแนะนำอย่างเคร่งคัด นอกจากช่วยลดโอกาสเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นขณะเข้ารับการผ่าตัดแล้ว ยังช่วยให้การผ่าตัดดำเนินไปได้อย่างราบรื่นอีกด้วยค่ะ
ก่อนถึงวันผ่าตัด
- คนไข้ควรหลีกเลี่ยงการศัลยกรรมทุกประเภทก่อนเข้ารับการผ่าตัด ประมาณ 1 เดือนนะคะ
- งดใส่คอนแทคเลนส์ อย่างน้อย 3 สัปดาห์ค่ะ
- งดการติดสติ๊กเกอร์ตาสองชั้น งดบุหรี่ เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอร์ทุกชนิด รวมไปถึงวิตามินต่างๆและอาหารเสริมทุกชนิด อย่างน้อย 2 สัปดาห์ค่ะ
วันผ่าตัด
- คนไข้ควรสระผมให้สะอาด งดแต่งหน้า และเลือกเสื้อผ้าที่ง่ายต่อการสวมใส่ เช่น เสื้อยืดคอกว้าง เสื้อมีกระดุมด้านหน้า เพื่อลดโอกาสการสัมผัสบริเวณใบหน้าหลังการผ่าตัด
- แจ้งประวัติ โรคประจำตัว การแพ้อาหาร แพ้ยา รวมไปถึงยาที่ต้องรับประทานเป็นประจำให้แพทย์ทราบโดยละเอียด หากคนไข้เคยทำตามาก่อนก็ควรแจ้งให้แพทย์ทราบเช่นกันค่ะ
- เตรียมสภาพจิตใจ ให้พร้อมก่อนเข้ารับการผ่าตัด ไม่ตื่นเต้นจนเกินไปนะคะ